ข้อควรรู้! ผมร่วงหนักมาก เกิดจากสาเหตุอะไร? วิธีแก้ผมร่วง มีอะไรบ้าง?

ผมร่วง ผมร่วงเกิดจาก

เคยเป็นไหม? ผมร่วงหนักมาก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร สระผมทีผมก็ร่วงติดท่อในห้องน้ำเพียบ หวีผมแต่ละครั้ง ผมร่วงเยอะมากจนพันเต็มหวีไปหมด หรือแม้แต่กระทั่งตอนกวาดพื้นห้อง ก็เจอเส้นผมมากมาย

ถึงแม้ว่าในช่วงแรกๆ จะยังพอรับได้ ไม่คิดอะไรมาก แต่พอวันเวลาผ่านไป เมื่อผมร่วงบ่อยๆเข้า ทำให้ผมเริ่มบางลงโดยไม่รู้ตัว บางพื้นที่ในศีรษะเริ่มไม่มีเส้นผมปกคลุม เห็นหนังศีรษะชัดเจน จนทำให้ความมั่นใจในตนเองลดน้อยลง ความกังวลเพิ่มมากขึ้น จนต้องหาอะไรมาปกปิดบริเวณนั้นอยู่ตลอด ควบคู่ไปกับการพยายามตามหาวิธีที่จะช่วยลดผมร่วงให้ได้ผล

แล้วแบบนี้ การที่เราผมร่วง มันเกิดมาจากสาเหตุอะไร? มีวิธีไหนไหมที่จะสามารถแก้ไขด้วยตนเองได้ และต้องมีอาการผมร่วงถึงระดับไหนจึงจะต้องรีบไปพบแพทย์ และอื่นๆ อีกมากมายที่สงสัยเต็มไปหมด ในบทความนี้มีคำตอบให้สำหรับคุณ

เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน แสดงหัวข้อ

สาเหตุหลักปัญหาผมร่วง

ในความเป็นจริงแล้ว การที่เราผมร่วงเยอะมาก มีหลากหลายสาเหตุด้วยกัน คุณควรใส่ใจและสังเกตตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหาผมร่วงที่แท้จริงในแต่ละคน ซึ่งจะช่วยให้สามารถค้นหาวิธีแก้ไขและรักษาได้อย่างตรงจุด โดยปกติแล้ว อาการผมร่วงมีปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่

ผมร่วง จากกรรมพันธุ์

กรณีผมร่วงกรรมพันธุ์ จะพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง เพียงแต่มักจะพบสาเหตุนี้ในเพศชายมากถึง 95% ในอายุประมาณ 18 – 90 ปี ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดศีรษะล้านอย่างถาวรได้

  • ผู้ชาย มักจะเริ่มมีอาการผมร่วง ศีรษะเริ่มล้านจากแนวผมด้านหน้าลึกเข้าไปเป็นง่าม ในบางรายอาจมีผมร่วง ศีรษะล้านที่บริเวณกลางกระหม่อมร่วมด้วย ซึ่งหากผมไม่หยุดร่วง 2 บริเวณนี้จะค่อยๆ เข้าหากัน จนกลายเป็นการที่เกิดศีรษะล้านเป็นวงกว้าง
  • ผู้หญิง มักจะเกิดอาการผมร่วง หรือศีรษะล้านที่บริเวณกลางกระหม่อม ในบางรายอาจมีอาการเถิกหรือการถอยร่นจากด้านหน้าเหมือนเพศชาย โดยในระยะแรก ผมจะยังไม่บางมากนัก แต่จะสังเกตเห็นถึงรอยแสกของผมได้ เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะทำให้เริ่มเห็นหนังศีรษะมากขึ้น และสุดท้าย ผมจะบางลงมาก จนเห็นหนังศีรษะได้อย่างชัดเจน และพื้นที่ศีรษะล้านถูกขยายตัวออกไปมากขึ้น

อาการผมร่วง 


ผมร่วง จากฮอร์โมน

ผมร่วงจากฮอร์โมน มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายที่ทำให้ผมร่วงได้มากที่สุด คือ ฮอร์โมนไดไฮโดรเทสทอสเตอโรน (Dihydrotestosterone) หรือเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า ฮอร์โมน DHT

ฮอร์โมน DHT เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้เส้นผมเงางาม แต่ถ้าหากฮอร์โมนชนิดนี้ไปจับตัวกับเซลล์มากจนเกินไป ก็จะทำให้วงจรชีวิตของเส้นผมนั้นสั้นลง ผมก็จะเกิดการหลุดร่วงที่ด้านหน้าและกลางศีรษะมากยิ่งขึ้น ผมงอกในเวลาที่เร็วขึ้นแต่ขนาดของเส้นผมจะเล็กลงเรื่อยๆ จนในที่สุด รากผมฝ่อไป ทำให้เกิดศีรษะล้านนั่นเอง


ผมร่วง จากโรคต่างๆ

อาการผมร่วงจากโรคต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะในบางโรคส่งผลกระทบต่อศีรษะโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น

ผมร่วงเป็นหย่อม ผมร่วงเป็นวง

  • โรคผมร่วงทั่วศีรษะ (Telogen Effluvium) มีอาการผมร่วงเยอะผิดปกติ มากกว่า 100 เส้นต่อวัน ในบางรายอาจสูงสุดถึง 1,000 เส้น ซึ่งจะมีลักษณะที่ผมร่วงทั่วศีรษะ จะเห็นในส่วนของขมับได้เด่นชัดที่สุด โดยผมร่วงชนิดนี้มักเกิดหลังจากที่มีภาวะการเจ็บป่วยต่างๆ หรือเกิดจากการรับประทานยาบางชนิด อาจเป็นอยู่ระยะเวลา 3 – 6 เดือน จากนั้นสามารถหายเองได้
  • โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) มีลักษณะผมร่วงเป็นวงที่หนังศีรษะ สามารถเกิดได้หลายวง มีขนาดวงเทียบเท่าเหรียญสิบบาท ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถหายไปได้เอง บางรายอาจเกิดการงอกใหม่ประมาณ 6 – 12 เดือน แต่ในบางรายอาจไม่เกิดการงอกใหม่เลย ดังนั้นหากมีอาการควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
  • โรคกลากเชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea Capitis) สาเหตุมาจากเชื้อรา สามารถเกิดขึ้นได้หลายบริเวณ ไม่ว่าจะเป็น รากผม เส้นผม หนังศีรษะชั้นบน ผิวหนังส่วนอื่นๆ หรือเล็บ เป็นต้น โดยลักษณะอาการคือ เกิดขุยหรือสะเก็ดขึ้นตรงหนังศีรษะ มีอาการคัน ผมร่วงเป็นหย่อม อาจมีอาการอักเสบร่วมด้วย ซึ่งบุคคลที่มีเชื้อรา จะแสดงอาการภายใน 7 – 14 วัน หากไม่แสดงอาการก็อาจเป็นพาหะได้

จากที่กล่าวไว้ข้างต้น ถึงแม้ว่าจะมีโรคที่ส่งผลกระทบต่ออาการผมร่วงโดยตรงแล้ว ก็ยังมีโรคอื่นๆ ที่สามารถเกิดผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการผมร่วงได้ เช่น โรคติดเชื้อ โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน โรคผิวหนัง โรคไต ไทรอยด์ผิดปกติ ฯลฯ


ผมร่วงหลังผ่าตัด

อาการผมร่วงหลังผ่าตัดประมาณ 3-4 เดือน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากในขณะที่มีการผ่าตัด มีความเครียด ความเจ็บป่วย รวมไปจนถึงผลข้างเคียงของยาสลบที่ใช้

การผ่าตัดเพื่อปลูกผมก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากอาจเกิดความเครียด ผลของยาสลบที่ใช้ และการพักฟื้นตัวของรากผม ทำให้อาจมีอาการผมร่วงเกิดขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล โดยทั่วไปแล้วผมที่ทำการผ่าตัดปลูกผมจะขึ้นใหม่ เพียงแต่อาจจะใช้เวลาเท่านั้นเอง


ผมร่วงหลังคลอด

ผมร่วงหลังคลอด มาจากการที่ระดับฮอร์โมนเพศหญิงเปลี่ยนแปลงไป หรือมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ลดลง ทำให้ผมไม่ค่อยแข็งแรงเท่าในระดับปกติ จึงเกิดการหลุดร่วงออกไป เพราะฮอร์โมนนี้ หากบุคคลใดมีอยู่มาก ก็จะมีส่วนช่วยให้ผมสวยสุขภาพดี ขาดหลุดร่วงน้อยลงนั่นเอง

ผมร่วงหลังคลอด


ผมร่วงจากเคมี

ผมร่วงจากเคมี หรือ เคมีบำบัด เป็นสิ่งที่ใครหลายๆคนมักจะรู้จักกันดี การทำคีโม อาจทำให้ผมร่วงได้ เนื่องจากเป็นผลข้างเคียงอย่างหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็ง กระบวนการของการทำเคมีบำบัด คือจะใช้เคมีในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตหรือการแพร่ขยายของเซลล์มะเร็ง แต่ไม่สามารถระบุพื้นที่ที่สารเคมีจะออกฤทธิ์ได้ หากสารเคมีทำให้เซลล์ในการสร้างผมแบ่งช้าลง จะทำให้ผมนั้นไม่แข็งแรง และเกิดการหลุดร่วงลงในที่สุด


ผมร่วง จากความเครียด

ผมร่วงหนักมาก

ความเครียด เป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญมาก หลายๆคนมักจะเครียดกันบ่อยถึงปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งความเครียดไม่ได้มีผลแค่ต่อจิตใจเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อร่างกายด้วย ไม่ว่าจะเรื่องของ ฮอร์โมนภายในร่างกาย ความดัน ระดับการเต้นของหัวใจ เป็นต้น

หากมีความเครียดสะสมหรือเรื้อรังมากๆเข้า อาจมีความสัมพันธ์กับเส้นผม ตรงที่ผมอาจเกิดการขาดหลุดร่วงได้ง่าย ผมที่งอกขึ้นมาใหม่ก็จะไม่ค่อยแข็งแรงและมีขนาดเล็ก หากความเครียดมีความรุนแรงมากขึ้น ก็อาจทำให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อมได้อีกด้วย

หรือการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับความเครียด ก็ส่งผลกระทบต่อเส้นผมเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น โรคดึงผม (Trichotillomania) เป็นโรคที่เมื่อเกิดความเครียดขึ้น จะทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ต้องระบายอารมณ์ด้วยการดึงผม จึงจะรู้สึกดีขึ้น


ผมร่วงเพราะขาดสารอาหาร

แน่นอนว่า เส้นผมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากสารอาหารต่างๆที่รับประทานเข้าไป ไม่ว่าจะเป็น โปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามินบี วิตามินดีและไบโอติน ซึ่งถ้าหากขาดสารอาหารเหล่านี้ไป ก็อาจทำให้ผมที่งอกขึ้นมาใหม่ไม่มีความแข็งแรง ทำให้หลุดร่วงได้ง่าย


ผมร่วง จากปัจจัยภายนอก

ปัจจัยภายนอกก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในบางครั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเราก็อาจส่งผลทำร้ายเส้นผมและหนังศีรษะโดยไม่รู้ตัวได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • การทำสีผม ดัดผม หรือหนีบผมเป็นประจำ การกระทำเหล่านี้ เป็นการทำให้เส้นผมสัมผัสกับความร้อนโดยตรง เมื่อทำมากๆเข้า เส้นผมอาจจะไม่แข็งแรง เนื่องจากขาดความชุ่มชื้นได้
  • หวีผมมากจนเกินไป หรือหวีผมในขณะที่ผมเปียก การหวีผมก็จะมีแรงดึงที่จะส่งผลกระทบต่อเส้นผมได้เช่นเดียวกัน จึงไม่ควรกระทำด้วยความรุนแรง
  • การลดน้ำหนักอย่างไม่ถูกต้อง การที่น้ำหนักลดลงเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าหากน้ำหนักลดลงแถมยังขาดสารอาหารจำเป็นบางอย่าง ก็อาจส่งผลต่อหลายๆส่วนในร่างกายได้เช่นเดียวกัน เพราะการสร้างผม แน่นอนว่า มีความจำเป็นจะต้องใช้สารอาหาร หากไม่มีสารอาหารก็จะทำให้เส้นผมที่ออกมา ไม่แข็งแรง หลุดร่วงได้ง่าย

หวีผมตอนเปียก ผมร่วง

เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับผมร่วง

เชื่อว่าทุกคนต่างก็เคยได้ยิน เรื่องที่เล่าต่อๆ กันมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น เกี่ยวกับการดูแลเส้นผม บางครั้งเราก็อาจจะไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง เพียงแค่ทำตามเพราะป้องกันไว้ก่อน ดังนั้นบทความนี้จึงรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเชื่อผิดๆเรื่องผมร่วงมาฝาก เพื่อให้ใครหลายๆคนกระจ่างคลายความสงสัยกัน ดังต่อไปนี้

  • การไหลเวียนโลหิตไม่ดี

การบอกว่า เพราะการไหลเวียนโลหิตไม่ดี จึงทำให้เกิดอาการผมร่วง ไม่เป็นความจริง อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าการสร้างเส้นผมและการทำให้ผมแข็งแรงจำเป็นต้องมีสารอาหารครบถ้วน ดังนั้นในกรณีนี้ การลำเลียงสารอาหารไปสู่รากผม จำเป็นจะต้องมีเส้นเลือดฝอยที่มากเพียงพอด้วย

  • ไขมันอุดตันที่รูขุมขน

เป็นประเด็นที่ใครหลายๆคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างกับคำพูดประมาณว่า อย่ากินของที่มีไขมันเยอะๆนะ เดี๋ยวไขมันจะไปอุดตันรูขุมขนทำให้สารอาหารไปเลี้ยงเส้นผมไม่ได้

ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจก่อนว่า ไขมันที่อยู่ตามรูขุมขนด้านนอก ไม่สามารถเข้ามาอุดตันที่รูขุมขนของเส้นผมได้เลย เพราะเป็นคนละเส้นทางกันกับการลำเลียงสารอาหารให้แก่รากผม รากผมถูกฝังตัวอยู่ภายในหนังศีรษะ ดังนั้นการลำเลียงสารอาหารจะต้องมาจากเส้นเลือดนั่นเอง

ส่วนไขมันที่อยู่ตามหนังศีรษะ ถูกผลิตมาจากต่อมไขมันในรูขุมขนอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนนี้ จะช่วยให้เส้นผมมีความเงางาม ไม่ขาดง่าย ไม่แตกปลายหรือแห้งจนเกินไป

  • หนังศีรษะมัน

ในความเป็นจริงแล้ว ต่อมไขมันที่อยู่ในรูขุมขนของหนังศีรษะจำเป็นที่จะต้องปล่อยไขมันออกมาบ้าง เพื่อที่จะทำให้หนังศีรษะไม่แห้งจนเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะบนหนังศีรษะของเราจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมความเป็นกรดด่างให้สมดุล รวมไปจนถึงความชุ่มชื้น เพื่อที่จะทำให้เส้นผมมีความแข็งแรง ไม่ขาดง่าย หรือหวีได้ง่ายๆ

  • สระผมบ่อยจนเกินไป

ในประเด็นนี้ เชื่อว่าหลายคนคงเคยสงสัยและเคยตั้งคำถามอยู่ไม่มากก็น้อย เพราะโดยปกติแล้ว เวลาที่มีการสระผม หลายคนก็จะสังเกตเห็นได้ว่า มักจะมีผมหลุดร่วงอุดตันท่อระบายน้ำทุกครั้ง

ซึ่งความจริงแล้ว การสระผมไม่ได้ทำให้ผมบางลงแต่อย่างใด เพราะเมื่อผมโดนน้ำ จะทำให้ผมมีน้ำหนักมากขึ้น ผมที่หมดวงจรชีวิตแล้ว หรือผมที่กำลังจะร่วงเลยหลุดออกมาด้วย เท่านั้นเอง

  • แพ้ยาสระผม

หลายคนมักเข้าใจผิด เพราะบางทีมีการเปลี่ยนยาสระผมใหม่ๆ จึงทำให้กังวลว่านี่เราแพ้ยาสระผมรึเปล่า ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถสังเกตอาการได้ง่ายๆ หากแพ้ยาสระผมจริงๆ หนังศีรษะจะมีลักษณะเป็นขุย เป็นผื่นแดง และในบางรายอาจเกิดผมร่วงเป็นหย่อม ซึ่งแตกต่างจากการหลุดร่วงตามปกติ

  • การสวมหมวกในที่ร่มหรือสวมหมวกกันน็อกนานๆ

ใครๆ คงคุ้นเคยดี “อย่าใส่หมวกในที่ร่มนะ เดี๋ยวอากาศเข้าไปไม่ได้แล้วจะผมร่วงหมดหัว เดี๋ยวหัวล้านนะ” ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้องตรงที่ว่า ออกซิเจนไม่ได้ถูกลำเลียงทางอากาศเพื่อมาดูแลผมหรือหนังศีรษะ แต่ถูกลำเลียงผ่านทางเลือดสู่หนังศีรษะ

แต่ความเชื่อนี้ก็ไม่ได้แย่ เพราะการสวมหมวกนานๆ ก็อาจก่อให้เกิดความชื้นของหนังศีรษะ ซึ่งเป็นแหล่งที่เชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี และหากเป็นเชื้อราที่หนังศีรษะก็อาจทำให้เกิดผมร่วงได้เช่นกัน

  • อายุมากแล้วไม่เจอกับปัญหาผมร่วง แสดงว่าจะไม่มีปัญหาผมร่วงเกิดขึ้น

สำหรับบางคน อาจมีความเชื่อว่า หากอายุ 40 ปีขึ้นไปแล้ว ยังไม่พบเจอกับปัญหาผมร่วง แสดงว่าบุคคลนั้นจะไม่มีปัญหาเรื่องผมร่วงอีกเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ต่อให้อายุมากเท่าไหร่ ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาผมร่วงได้อยู่ดี เพียงแต่การร่วงของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน

อาการผมร่วงที่ควรพบแพทย์

ผมร่วงเยอะมาก

แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสงสัย ปกติแล้วเส้นผมมีวงจรชีวิต มีการหลุดร่วงบ้างอยู่แล้ว ก็ดูจะเป็นเรื่องปกติ แบบนี้เราจะสามารถรู้ได้อย่างไร ว่าหลุดร่วงแบบไหนจึงจะไม่ปกติ และต้องเข้าพบแพทย์ตอนไหน เพราะในบางครั้งการหลุดร่วงแบบที่ควรเข้าพบแพทย์ก็อาจจะมีสัญญาณอะไรบางอย่างบ่งบอกเช่นเดียวกัน

ดังนั้น สิ่งที่คุณควรรู้และทำความเข้าใจ ว่าหากมีอาการผมร่วงในลักษณะที่จะกล่าวดังต่อไปนี้ ให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงที

  • ผมร่วงมากกว่า 100 เส้นต่อวัน

คุณสามารถลองสังเกตตนเองได้ ว่าในระหว่างวันที่มีการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอนมีผมร่วงติดอยู่บนหมอน การหวีผม บริเวณโต๊ะทำงาน ฯลฯ ว่ามีผมร่วงอยู่หรือไม่ หากมี ทั้งหมดรวมกันได้กี่เส้นต่อวัน หากคุณมีอาการผมร่วงมากกว่า 100 เส้นต่อวัน แสดงว่าคุณอาจต้องเข้าพบแพทย์ได้แล้ว

  • หวีผมก่อนสระผม

วิธีการนี้สามารถทดสอบได้ง่ายๆ เพียงแค่คุณหวีผมก่อนจะสระผม ประมาณ 1 นาที และนับจำนวนเส้นผมที่ติดมากับหวีในครั้งนี้ หากเส้นผมที่หลุดร่วงมากเกิน 10 – 20 เส้น แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว ควรรีบเข้าพบแพทย์

  • มีอาการผมร่วงเป็นหย่อม เป็นวง หรือเป็นกระจุก

อาการนี้เป็นอาการที่สามารถสังเกตได้ง่าย หากคุณมองดูในกระจก แล้วพบว่ามีหย่อมเส้นผมบางพื้นที่หายไป หรือมีลักษณะการหลุดร่วงเป็นวงประมาณเท่าเหรียญสิบบาท หรือมีการหลุดร่วงของเส้นผมเป็นกระจุก ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษา

  • มีอาการดึงผมตนเอง

บางครั้งคุณอาจจะมีการคิดอะไรบางอย่าง หรือเครียดโดยไม่รู้ตัว ทำให้มือของคุณดึงผมไปเรื่อยๆเพื่อระบายอารมณ์ที่เกิดขึ้น คนส่วนใหญ่ที่เป็นอาการนี้มักจะไม่ค่อยรู้ตัวในระยะแรกๆ รู้ตัวอีกทีก็อาจเพิ่งสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่าผมบางลง น้อยลงเป็นอย่างมาก

หากมีอาการที่รุนแรงขึ้น อาจเป็นโรคดึงผม ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้ หลายครั้งรับรู้ได้ว่าตนเองกำลังดึงผมอยู่ แต่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เนื่องจากความเครียด ความวิตกกังวลต่างๆ จึงแนะนำว่าควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาจึงจะดีที่สุด

แนะนำวิธีแก้ปัญหาผมร่วง

วิธีรักษาผมร่วงด้วยตัวเอง

วิธีการรักษาผมร่วงด้วยตนเอง สามารถทำได้เบื้องต้นง่ายๆ ใครๆก็สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ไม่ได้มีอาการผมร่วง หรือผู้ที่กำลังรักษาอาการผมร่วงอยู่ ก็สามารถทำควบคู่ไปกับการดูแลของแพทย์ได้ ซึ่งวิธีการดูแลรักษาด้วยตนเอง มีดังต่อไปนี้

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อการบำรุงเส้นผม ได้แก่ ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามินดี วิตามินบี1 บี3 บี12 และไบโอติน
  2. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติจัดจ้าน หรือการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่
  3. ดูแลสุขภาพจิตใจอยู่เสมอ ผ่อนคลายตนเองเพื่อทำให้ความเครียดลดลง
  4. หลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำร้ายเส้นผม เช่น การย้อมสีผม การยืดผม การดัดผม หรือการหนีบผมด้วยเครื่องความร้อนสูง เพื่อลดโอกาสที่ผมเสีย ผมแห้ง หรือไม่แข็งแรงได้
  5. ไม่หวีผมบ่อยจนเกินไป หรือไม่หวีผมในขณะที่ผมเปียก

วิธีรักษาผมร่วงทางการแพทย์

วิธีแก้ผมร่วง รักษาผมร่วง
ขอบคุณรูปภาพจาก Absolute Hair Clinic

ในบางกรณีที่ไม่สามารถดูแลรักษาได้ด้วยตนเอง การใช้วิธีการรักษาผมร่วงทางการแพทย์ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเช่นกัน ซึ่งโดยปกติแล้ว แพทย์จะมีวิธีการดูแลรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้

  • รับประทานยาแก้ผมร่วง ใช้ยาแก้ผมร่วงเพื่อชะลออาการผมร่วง และกระตุ้นให้มีผมเกิดขึ้นมาใหม่ เป็นการรักษาในระยะยาว
  • การปลูกผม มี 2 ประเภท ได้แก่ วิธีการผ่าตัดปลูกผม FUT คือการผ่าตัดเพื่อนำผมส่วนหนึ่งออกมา จากนั้นจึงทำการเย็บแผลให้ติดกัน และวิธีการปลูกผมแบบเจาะ (FUE) คือ การใช้หัวเจาะขนาดเล็ก 0.7-1.0 มม. เจาะครอบเส้นผมเพื่อนำเอาเส้นผมออกมา
  • การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP ที่ผม เป็นการนำเกล็ดเลือดเข้มข้นเข้าไปเพิ่มอาหารผม ช่วยให้ผมงอกขึ้นใหม่ได้ดียิ่งขึ้น
  • การฉีดสเต็มเซลล์ เป็นการทำให้เส้นเลือดฝอยเข้าไปเลี้ยงผมได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นให้มีผมเกิดใหม่ขึ้นมาได้อีกด้วย
  • การใช้เลเซอร์รักษาผมร่วง (Fotona Laser, LLLT) เป็นการกระตุ้นทั้งบริเวณหนังศีรษะและเส้นผม ทำให้มีการทำงานมากขึ้น

รักษาผมร่วงที่ไหนได้บ้าง

ปัจจุบันมีคลินิกรักษาผมร่วง และคลินิกปลูกผมเกิดขึ้นมากมาย จนไม่รู้ว่าจะเลือกเข้ารับบริการที่ไหนดี แต่ก่อนอื่น ก่อนทำการเลือกคลินิกที่จะเข้าบริการ ควรทบทวนและสังเกตตนเองก่อนว่า แท้จริงแล้วสาเหตุอาการผมร่วงของตนเองนั้นมาจากอะไรกันแน่ จึงจะค่อยเลือกคลินิกเป็นลำดับถัดมา

รักษาผมร่วงที่ไหนดี? การเลือกคลินิกที่ดี จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะแต่ละคลินิก ก็จะมีสิ่งต่างๆที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นมาตรฐาน การใส่ใจดูแล ความสะอาดปลอดภัย ค่าใช้จ่าย การเดินทาง รวมไปจนถึงแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ที่มากเพียงพอ หากเลือกคลินิกรักษาผมร่วงที่ดีและเหมาะสมกับตนเองได้ ก็จะทำให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ

หากคุณยังไม่รู้ว่าจะเลือกคลินิกไหนดี ที่จะตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ทางเราขอแนะนำ Absolute Hair Clinic ไว้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะคลินิกนี้รับปรึกษาปัญหาเส้นผม ผมร่วง ผมบาง ศัลยกรรมปลูกผม โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเส้นผมและหนังศีรษะ

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับผมร่วง

กินผงชูรสเยอะทำให้ผมร่วงจริงไหม?

เรื่องของการกินผงชูรสเยอะ จะทำให้ผมร่วง ยังไม่มีงานวิจัยใดๆรองรับ และอาจเป็นความเข้าใจที่ผิดกันไปเอง แต่การทานอาหารรสจัด มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับอาการผมร่วง เมื่อเราทานอาหารที่มีรสจัดจ้านเข้าไป จะทำให้เส้นเลือดเกิดการหดเกร็ง ส่งผลให้ความดันเลือดไปเลี้ยงรากผมได้ไม่เพียงพอ จึงเป็นเหตุที่ทำให้ผมไม่แข็งแรง และเกิดการหลุดร่วงง่ายขึ้นนั่นเอง

โกนผมทำให้ผมหนาขึ้นไหม?

โกนผมไม่ได้ช่วยทำให้ผมหนาขึ้นอย่างที่ใครๆเข้าใจ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาผมร่วง หรือปัญหาที่ผมงอกใหม่มีขนาดเล็กบางกว่าเดิม มาจากรากผม ซึ่งหากไม่ทำการรักษาที่รากผม ก็จะทำให้เกิดอาการผมร่วงต่อไป เพราะการที่มีอาการผมร่วง ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น กรรมพันธุ์ การเป็นโรคต่างๆ ความเครียด ฯลฯ

รังแคทำให้ผมร่วงหรือไม่?

รังแคไม่ได้ทำให้เกิดอาการผมร่วง แต่การมีรังแคจะทำให้มีความเกี่ยวข้องบางอย่าง ตรงที่ หากเรามีรังแคเกิดขึ้น จะทำให้เกิดอาการคัน หรือระคายเคือง เมื่อเราเกามากจนเกินไป ในส่วนนี้จะทำให้ผมขาดหลุดร่วง หรือรากผมถูกทำลาย รวมไปจนถึงในบางราย อาจเกามากจนเกินไป จนทำให้เกิดแผลเป็น จนทำให้ผมไม่ขึ้นถาวร

ข้อสรุป

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้น ปัญหาผมร่วง เป็นปัญหากวนใจใครหลายๆคน เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความเครียด ความกังวลว่าผมร่วงเท่าไหร่ถึงจะผิดปกติเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการเข้าสังคม บุคลิกภาพต่างๆ อีกด้วย

หากบุคคลใดที่อ่านบทความนี้แล้ว พบว่าตนเองกำลังประสบปัญหาผมร่วงที่มีความผิดปกติอยู่ ควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการรักษาก่อนที่เหตุจะบานปลายขึ้นจนไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที และการเลือกเข้ารับบริการคลินิกด้านการรักษาผมร่วงหรือปลูกผม ก็ควรพิจารณาถึงความเชี่ยวชาญ ความเป็นมาตรฐาน ความปลอดภัย และต้องสามารถไว้ใจได้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีและไม่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมานั่นเอง

Thank you for your Vote Rating
[Total: 1 Average: 5]